: : : อุ ท ย า น แ ห่ ง ช า ติ แ จ้ ซ้ อ น : : :
|
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น
น้ำตกแอ่งน้ำอุ่น บ่อน้ำพุร้อน ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าใต้พื้นโลกเรายังมีความร้อนระอุอยู่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง
มีเนื้อที่ประมาณ 768 ตารางกิโลเมตร หรือ 480,000 ไร่
|
ตรงนี้รอรูปจากคุณไงครับ
|
ส่งภาพถ่ายให้เรา
|
|
ฤดูกาลท่องเที่ยว
... สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
|
|
ประวัติความเป็นมา :-
ป่าไม้เขตลำปางได้มีหนังสือ ที่ กษ 0709(ลป)/4181
ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2524 เรื่องขอกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่ง ที่ 1648/2524 ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2524
ให้ นายนฤทธิ์ ตันสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ สรุปได้ว่าสภาพป่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง มีน้ำตกและน้ำพุร้อนไหลตลอดปี
เหมาะสำหรับจัดเป็นวนอุทยาน ในปีงบประมาณ 2526 กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น ( วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน ) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน
กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง
ต่อมา กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/13869 และ 13870
ลงวันที่ 2 ิสิงหาคม พ.ศ. 2526 ถึงจังหวัดลำปางและป่าไม้เขตลำปาง ขอความเห็นที่จะยกฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน ( วนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น ) เป็นอุทยานแห่งชาติ
ซึ่งจังหวัดลำปางได้มีหนังสือด่วนมากที่ ลป 0009/18356 ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2526 และป่าไม้เขตลำปางได้ให้ความเห็นชอบและสนับสนุน
ในการที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นการสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2526
ที่กำหนดให้จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว กองอุทยานแห่งชาติ ได้กำหนดดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมต่อมาเป็นระยะๆ และกองอุทยานแห่งชาติ
สำนักงานป่าไม้เขตลำปางและส่วนราชการ องค์กรภาคเอกชนของจังหวัดลำปาง ได้เริ่มโครงการจัดตกแต่งวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2529 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ( พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ) ได้เดินทางไปตรวจราชการ วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เกิดความประทับใจในธรรมชาติที่สวยงาม
จึงเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อวางแผนพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
และได้มีหนังสือแจ้งให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0202/2889 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้
จึงมีคำสั่งที่ 388/2530 ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2530 ให้ นายสุทัศน์ วรรณเลิศ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน
เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ เพื่อยกระดับฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
( นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ) ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ ( นายธำมรงค์ ประกอบบุญ )
ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและร่วมพิจารณาความเหมาะสมในการวางแนวทางพัฒนาวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2530
และกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2530 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2530
เห็นชอบในการยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลแจ้ซ้อน
ตำบลเมืองปาน ตำบลบ้านขอ ตำบลทุ่งกว้าง อำเภอแจ้ห่ม และตำบลบ้านคำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
ให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 122 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2531
เป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 58 ของประเทศไทย
ต่อมาได้มีประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ
ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และตำบลหัวเมือง ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง พ.ศ. 2543
เนื้อที่ประมาณ 176 ตารางกิโลเมตร หรือ 110,000 ไร่
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 121 ก ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2543
ตามที่ กรมป่าไม้ ได้จัดงานวันสถาปนากรมป่าไม้ครบรอบ 104 ปี
เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2543 โดยได้จัดประกวดอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยวประจำปี 2543 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ปีท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ 2543
และคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ปี 2543 ปรากฎว่า อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
ได้รับรางวัล " ชนะเลิศอันดับที่ 1 " ในการประกวด อุทยานแห่งชาติดีเด่น ประจำปี 2543
|
Top |
: : : ส ถ า น ที่ น่ า ส น ใ จ : : :
|
สถานที่น่าสนใจ :-
น้ำตกแจ้ซ้อน
เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอญ น้ำไหลตลอดปี มีแอ่งน้ำรองรับตลอดสายไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ
มีความสูงทั้งหมด 6 ชั้น ในแต่ละชั้นจะมีความสวยต่างกันออกไป อยู่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ
โดยมีเส้นทางรถยนต์และทางเดินเท้าเข้าถึงน้ำตก ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
น้ำตกแม่มอญ
เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลอย่างรุนแรงจากชะง่อนผาสูงลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง การตกของน้ำจะตกลงมาเป็นชั้นๆ สวยงามแปลกตา
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร ทางเข้าน้ำตกเป็นทางลูกรัง เดิมเป็นเส้นทางขนส่งแร่
น้ำตกแม่ขุน
อยู่ใกล้กับน้ำตกแม่มอญ มีลักษณะเป็นน้ำตกสายยาว สูงประมาณ 100 เมตร
ไหลลงมาบรรจบกับน้ำตกแม่มอญ
น้ำตกแม่เปียก
เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ต่อจากน้ำตกแจ้ซ้อนเข้าถึงโดยเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ
3 กิโลเมตร มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยชั้นน้ำตก 3 ชั้น
ความสูงประมาณ 100 เมตร
บ่อน้ำพุร้อน
เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ มีกลิ่นกำมะถันค่อนข้างอ่อน จำนวน 9 บ่อ
ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ภายในพื้นที่มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของน้ำพุร้อนประมาณ 73 องศาเซลเซียส นักท่องเที่ยวนิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่
สำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็ง มีรสชาดมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่า
แอ่งน้ำอุ่น
ตั้งอยู่ติดกับบ่อน้ำพุร้อน เป็นแอ่งน้ำที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำพุร้อนและน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อน
ทำให้เกิดเป็นน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิเหมาะแก่การแช่อาบ
ห้องอาบน้ำแร่
มีทั้งห้องอาบแบบแช่ ซึ่งมีอ่างสำหรับลงแช่อาบ จำนวน 11 ห้อง
และห้องอาบน้ำแบบตักอาบ โดยแยกระหว่างห้องอาบชาย - หญิง จำนวน 16 ห้อง
อุณหภูมิของน้ำแร่ประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส เหมาะแก่การอาบเป็นอย่างยิ่ง
การอาบน้ำแร่เป็นการบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่น ่ช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น และยังช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น กลาก เกลื้อน ผื่นคัน เป็นต้น
โดยน้ำแร่ที่ใช้อาบต่อท่อตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อน
ถ้าผางาม
อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนที่ 2 ( ผางาม ) ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังเหนือ ประมาณ
8 กิโลเมตร มีถ้ำที่สามารถเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยวได้จำนวนหลายถ้ำ เช่น ถ้ำผางาม ( ถ้ำหนานขัด )
ถ้ำน้ำ ถ้ำหม้อ ถ้ำหลวง ถ้ำลูกเกาะ เป็นต้น หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนที่ 2 อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 60 กิโลเมตร
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเลียบลำห้วยแม่มอญ ประกอบด้วย เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ 2
เส้นทาง คือ
1. เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกแจ้ซ้อน น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน
... มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
30 นาที โดยจะเริ่มต้นเดินทางตั้งแต่ลานบ่อน้ำพุร้อน จนถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แล้ววกกลับมาทางใหม่อีกจนถึงลานน้ำพุร้อน
2. เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่เปียก
... มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
30 นาที จะเริ่มเดินจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไปจนถึงน้ำตกแม่เปียกและเดินวกกลับมาอีกฟากหนึ่งของลำห้วย
จนมาถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเดินกลับมาทางเดียวกับเส้นทางเส้นที่หนึ่ง ตลอดทั้ง 2 เส้นทาง จะมีป้ายสื่อความหมายกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ
เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษา
|
|
เพิ่มเติมข้อมูลให้เรา
|
|
ภาพถ่าย :-
|
ส่งภาพถ่ายให้เรา
|
|
สภาพภูมิประเทศ :-
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของสันเขาผีปันน้ำตะวันตก ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ - ใต้
ซึ่งเป็นเขตแบ่งระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,700 เมตร
มียอดเขาสูงที่สุด คือ ดอยลังกา
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบริเวณป่าต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญ เป็นสาขาของแม่น้ำวัง เช่น แม่น้ำสอย ห้วยแม่กา ห้วยแม่ปาน
|
|
สภาพภูมิอากาศ :-
ประกอบด้วย 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน
ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างจะร้อน
ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม
จะมีฝนตกชุกในเดือนกันยายน
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์
เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย
|
|
พรรณไม้ :-
สภาพป่าประกอบด้วย ป่าดิบเขา ป่าดงดิบ ป่าสนเขา ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ
ซึ่งป่าแต่ละชนิดจะขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอุทยานฯ ตามความสูงของสภาพพื้นที่
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ได้แก่ มะค่าโมง ยมหิน ยมหอม ดำดง ตะแบก ยางขาว สนสองใบ สนสามใบ ประดู่ เต็ง รัง เหียง พลวง เป็นต้น
|
|
สัตว์ป่า :-
เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด ตลอดจนระดับความสูงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่
300 - 2,000 เมตร จึงทำให้เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด
สัตว์ป่าที่พบเห็น
ประกอบด้วย เก้ง กระจง หมูป่า เสือไฟ กระต่ายป่า เลียงผา บ่าง ลิง ค่าง เม่น หมี กระรอก กระแต และ นกนานาชนิด
เช่น นกกางเขนดง ไก่ป่า นกหัวขวาน นกเขา เป็นต้น
.... ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี จะมี จักจั่นป่า มารวมตัวกันบริเวณน้ำพุร้อน ซึ่งเชื่อกันว่าจักจั่นป่าเหล่านี้มาดื่มน้ำแร่
|
|
สถานที่พักแรม :-
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว
|
|
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :-
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง 52240
โทรศัพท์ 054-380457 (VoIP), 054-380000, 08-9851-3355
หรือที่เว็บไซต์ http://www.dnp.go.th
|
|
ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ :-
- ไม่ทำการยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางป่า นำออกไปซึ่งแร่, ดิน, หิน, พรรณไม้ และสัตว์ป่า ตลอดจนของป่าทุกชนิด
- ไม่ล่าสัตว์และไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
- ไม่ทำเสียงดังจนเป็นที่รบกวนแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์
- ต้องช่วยระมัดระวังมิให้เกิดไฟไหม้ป่า หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟ เมื่อเสร็จแล้วกรุณาช่วยดับให้เรียบร้อย
- หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่
|
|
การเดินทาง :-
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน สามารถเดินทางได้ดังนี้
ทางรถยนต์
..... น้ำตกแจ้ซ้อน อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร
การเดินทางเริ่มต้นจากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 ( สายลำปาง - แจ้ห่ม )
ซึ่งเป็นเส้นทางลาดยางระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าไปยังอำเภอเมืองปาน
ไปตามเส้นทางอีกประมาณ 17 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน
ปัจจุบันนี้สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ทุกฤดูกาล
|
|
|
แผนที่ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน :-
|
|
|