: : : อุ ท ย า น แ ห่ ง ช า ติ เ ข า ใ ห ญ่ : : :
|
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
มีอาณาเขตครอบคลุม 11 อำเภอของ 4 จังหวัด คือ จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก ได้รับสมญานามว่าเป็น อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นป่าผืนใหญ่ตั้งอยู่ในเทือกเขาพนมดงรัก
ในส่วนหนึ่งของดงพญาไฟหรือดงพญาเย็นในอดีต ประกอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนหลายลูก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารที่สำคัญหลายสาย เช่น
แม่น้ำนครนายก แม่น้ำมูล อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ช้างป่า กวาง เก้ง กระทิง เสือ ตลอดจนมีลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม
มีเนื้อที่ประมาณ 2,168.64 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,355,396.96 ไร่
|
ภาพโดย คุณวิสูตร
|
ส่งภาพถ่ายให้เรา
|
|
ด่านเก็บค่าธรรมเนียมทั้ง 2 ด้าน จะ เปิด เวลา 6.00 น. และจะ ปิด เวลา 21.00 น.
การส่องสัตว์ ติดต่อขออนุญาตได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ ก่อนเวลา 18.00 น. ทุกวัน
สถานที่กางเต็นท์มีอยู่ 2 จุด คือ
1. จุดกางเต็นท์ลำตะคอง
2. จุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้ ( เลยจุดกางเต็นท์ลำตะคองไปประมาณ 2 กิโลเมตร )
|
|
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
... ผู้ใหญ่ 40 บาท
... เด็ก 20 บาท
|
|
ประวัติความเป็นมา :-
เมื่อประมาณ 60 - 70 ปีที่แล้ว
ราษฎรบ้านท่าด่านและบ้านท่าชัย จังหวัดนครนายก ได้บุกรุกถางป่า ปลูกพริกปลูกข้าวบนเขาใหญ่ และจับจองพื้นที่สร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่บนเขาใหญ่ ประมาณ
30 หลังคาเรือน ต่อมาได้พัฒนายกฐานะเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นอยู่กับอำเภอปากพลี ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า
ทำไร่เลื่อนลอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ต่อมากลายเป็นที่หลบซ่อนพักพิงของโจรผู้ร้าย และผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอาญาอยู่เนืองๆ เพราะการคมนาคมยากลำบาก ห่างไกลแหล่งชุมชนอื่นๆ
ยากแก่การตรวจปราบปราม ด้วยเหตุนี้ทางราชการในสมัยนั้นจึงยุบตำบลเขาใหญ่ และให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บนเขาใหญ่อพยพลงสู่ที่ราบ หมู่บ้านและไร่ที่ทำกินบริเวณเขาใหญ่จึงถูกทิ้งร้างกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาสลับกับป่าที่อุดมสมบูรณ์
ในปี พ.ศ. 2502 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
ได้เดินทางไปตรวจราชการทางภาคเหนือ เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะคุ้มครองรักษาธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ จึงได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย
ร่วมมือและประสานงานกันเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ให้กำหนดป่าเขาใหญ่
จังหวัดนครนายก จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า
เป็นอุทยานแห่งชาติ จากนั้น กรมป่าไม้ได้เริ่มเตรียมการและวางแผนการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้น โดยได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจาก
DR. GEORGE C. RUHLE ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุทยานแห่งชาติของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ
( IUCN. ) จากประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อกรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจและวางแผนสำเร็จลงแล้ว
จึงดำเนินการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าที่ดินเขาใหญ่ ในท้องที่ตำบลป่าขะ ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา ตำบลหนองแสง
ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี ตำบลสาริกา ตำบลหินตั้ง ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม ตำบลสัมพันตา ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และตำบลหมวกเล็ก ตำบลซำผักแพว อำเภอแก่งคอย
จังหวัดสระบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2505 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 86
ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 รวมเนื้อที่ 1,355,468.75 ไร่
นับเป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 1 ของประเทศไทย
และได้รับสมญานามว่าเป็น " อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน "
ตลอดจนเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่สำคัญของโลก
ต่อมากองทัพอากาศได้มีหนังสือที่ กษ 0379/15739
ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 ถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอกันพื้นที่ก่อสร้างสถานีเรดาร์และสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2520 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 เห็นชอบให้กันพื้นที่ส่วนดังกล่าวได้
โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าเขาใหญ่บางส่วนในท้องที่ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ในปี พ.ศ. 2521
ซึ่งลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 99 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2521 เป็นเนื้อที่ประมาณ 71 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเนื้อที่ 1,355,396.96 ไร่
นับเป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 1 ของประเทศไทย
ต่อมากรมป่าไม้ได้จัดงานวันสถาปนากรมป่าไม้ครบรอบ 104 ปี
เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2543 โดยได้จัดประกวดอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยวประจำปี 2543 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ปีท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ 2543
และคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ปี 2543 ปรากฎว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ได้รับรางวัล " รองชนะเลิศอันดับที่ 2 " ในการประกวด อุทยานแห่งชาติดีเด่น ประจำปี 2543
|
Top |
: : : ส ถ า น ที่ น่ า ส น ใ จ : : :
|
สถานที่น่าสนใจ :-
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญนั่นก็คือ น้ำตกที่สวยงาม
มีน้ำตกน้อยใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งสำรวจพบและทำเส้นทางเดินเท้าไปถึงแล้วประมาณ 30
แห่ง ที่มีความสวยงามแตกต่างกันไปตามสภาพของธรรมชาติของภูมิประเทศเป็นที่รู้จักกันดี
น้ำตกนางรอง
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก
น้ำตกสาริกา
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก
น้ำตกกองแก้ว
เป็นน้ำตกเตี้ยๆ ที่เกิดจากห้วยลำตะคอง ในฤดูฝนจะดูสวยงามมากเหมาะสำหรับการเล่นน้ำ ใกล้บริเวณน้ำตกจะมีสะพานแขวนลำห้วยถึง
2 สะพาน ห้วยลำตะคองเป็นแนวแบ่งเขต 2 จังหวัด
คือ จังหวัดนครนายก และ จังหวัดนครราชสีมา
น้ำตกแห่งนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 100 เมตร
น้ำตกผากล้วยไม้
เป็นน้ำตกขนาดกลาง ที่อยู่ในห้วยลำตะคองเช่นเดียวกัน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 7
กิโลเมตร สามารถเข้าถึงได้โดยทางรถยนต์และทางเดินเท้า น้ำตกผากล้วยไม้จะมีกล้วยไม้หวายแดงขึ้นอยู่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของน้ำตกแห่งนี้
น้ำตกเหวสุวัต
เป็น น้ำตกที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วๆ ไป น้ำตกเหวสุวัตนี้อยู่สุดถนนธนะรัชต์
หรือจะเดินเท้าต่อจากน้ำตกผากล้วยไม้ไปก็ได้ ประมาณ 3 กิโลเมตร น้ำตกนี้มีลักษณะเป็นสายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ
20 เมตรเศษ บริเวณด้านล่างของน้ำตกเป็นแอ่งน้ำและลำธาร เหมาะที่จะลงเล่นน้ำ แต่สำหรับฤดูฝนน้ำจะมากและไหลแรง
ค่อนข้างเย็นจัด
น้ำตกเหวนรก
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสูงที่สุด อยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีทั้งหมด 3 ชั้น
ชั้นแรกสูงประมาณ 60 เมตร เมื่อน้ำไหลผ่านหน้าผาชั้นนี้จะพุ่งไหลลงสู่หน้าผาชั้นที่ 2
และ 3 ที่อยู่ถัดลงไปใกล้ๆ กันในลักษณะการไหลตก 90 องศา
รวมความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เมตร เป็นสายน้ำที่ไหลทะลักไปสู่หุบเหวเบื้องล่าง ในฤดูฝนน้ำจะไหลแรงมากจนดูน่ากลัว
น้ำตกไม้ปล้อง
เป็นน้ำตกที่พบมานานและได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ มีทั้งหมด 5 ชั้น
ลดหลั่นกันลงมา ชั้นสูงสุดไม่เกิน 12 เมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับน้ำตกเหวนรกหรือน้ำตกเหวสุวัต
จะพบความงามตลอดเส้นทางเดินเท้าประกอบด้วยโขดหินเล็กใหญ่และลำธารที่สวยงาม การเดินทางไปยังน้ำตกแห่งนี้เริ่มต้นที่วังตะไคร้
โดยการเดินเท้าตามเส้นทางเดินเท้าระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร
ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่หน่วย ขญ. 9 ( นางรอง ) มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ด้วย
น้ำตกวังเหว
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีความกว้างประมาณ 40 - 60 เมตร ในฤดูฝนมีน้ำมากและไหลแรง
อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ ขญ. 6 ( ใสใหญ่ ) ประมาณ 17 กิโลเมตร อยู่ใจกลางป่าทางด้านทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
การเดินทางจะต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 วัน เหมาะสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย ไปพักค้างแรมในป่าเป็นอย่างยิ่ง
ตลอดเวลาการเดินทางจะพบกับพันธุ์ไม้นานาชนิด และแก่งหินที่สวยงามตามธรรมชาติ นับเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
น้ำตกตะกร้อ น้ำตกสลัดได น้ำตกส้มป่อย น้ำตกพันทิพย์
เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่สวยงาม อยู่ใกล้กับหน่วยพิทักษ์ ขญ. 7 ( ประจันตคาม ) เหมาะสำหรับพักผ่อนเล่นน้ำ
ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวในท้องถิ่นและใกล้เคียงไปเที่ยวชมและเล่นน้ำตกนี้ โดยเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวจากถิ่นอื่นไปเที่ยวชมมากเช่นกัน
น้ำตกแก่งกฤษณา น้ำตกเหวจั๊กจั่น น้ำตกเหวอีอ่ำ
เป็นน้ำตกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มีความงดงามไม่แพ้แห่งอื่นๆ โดยเฉพาะน้ำตกเหวอีอ่ำ มีความสูงประมาณ 25
เมตร เหมาะสำหรับการพักแรมในป่าและชมทิวทัศน์ธรรมชาติรอบกายอย่างเพลิดเพลินใจ
น้ำตกผาไทรคู่ น้ำตกผากระชาย
เป็นน้ำตกขนาดกลางที่เกิดจากห้วยโกรกเด้ บริเวณเขาแหลม อยู่ทางด้านทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
มีความสูงประมาณ 15 เมตร ไหลลาดไปตามพื้นหิน เหมาะสำหรับผู้ชอบผจญภัยค้างแรมในป่า
อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ. 2 ( ผากระดาษ ) ประมาณ 12 - 15 กิโลเมตร
น้ำตกทั้ง 2 แห่งนี้เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง
แก่งหินเพิง
เป็นแก่งหินที่มีความยาวและใหญ่ สายน้ำลดหลั่นกันคล้ายขั้นบันได อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ. 2 ( ผากระดาษ )
ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทางด้าน การล่องเรือยาง
ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปล่องเรือกันเป็นจำนวนมาก
น้ำตกเหวไทร
เป็นน้ำตกอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ทางใต้ ถัดไปจากน้ำตกเหวสุวัต ห่างจากน้ำตกเหวสุวัต ประมาณ 700 เมตร
น้ำตกนี้มีลักษณะเป็นหน้าผากว้างเต็มลำห้วย สูงประมาณ 5 เมตร ในฤดูฝนน้ำตกนี้จะไหลแรงเต็มหน้าผา สวยงามน่าชมมาก
การเดินทางไปน้ำตกเหวไทรไปได้ 2 เส้นทาง คือ เดินเท้าต่อไปจากน้ำตกเหวสุวัต
ระยะทางประมาณ 700 เมตร หรือ เดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ไปตามเส้นทางเดินเท้าสายกองแก้ว - เหวสุวัตก็ได้ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ตามสองข้างทางเดินที่ผ่านไป
จะมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สมุนไพร และเห็ดป่า เป็นต้น
น้ำตกเหวประทุน
เป็นน้ำตกที่อยู่ในห้วยลำตะคองอีกแห่งเหมือนกัน อยู่ถัดจากน้ำตกเหวไทรประมาณ 2
กิโลเมตรเศษ สามารถเดินทางจากน้ำตกเหวสุวัตไปก็ได้ หรือจะเดินจากบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปก็ได้ เดินตามเส้นทางเดินเท้าสายกองแก้ว - เหวสุวัต
ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร น้ำตกนี้มีลักษณะเป็นหน้าผากว้างและสูงสวยงามมาก
น้ำตกมะนาว
เป็นน้ำตกขนาดเล็กๆ ที่สวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เดินไปตามเส้นทางเดินเท้า
ออกจากด้านหลังโภชนาการ ททท. เขาใหญ่ประมาณ 5 - 6 กิโลเมตร
จะผ่านป่าดงดิบชื้น ที่มีพันธุ์ไม้เล็กใหญ่และไม้สมุนไพรที่น่าสนใจศึกษา
น้ำตกตาดตาภู่
น้ำตกนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เกิดจากห้วยระย้า เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นโขดหิน
และลาดหินที่มีน้ำไหลหลั่นเป็นทอดลาดเอียงไปข้างล่างประมาณ 100 เมตร
เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบพักแรมค้างในป่า ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใกล้ๆ น้ำตกจะมีทุ่งหญ้าสลับกับป่า
ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด ที่เห็นประจำ ได้แก่ เก้ง กวาง ช้างป่า กระทิง นกนานาชนิด เป็นต้น
น้ำตกตาดตาคง
เป็นน้ำตกที่งดงามและสูงอีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่ถัดไปจากน้ำตกตาดตาภู่ประมาณ 4 กิโลเมตรเศษ
การเดินทางจะเริ่มต้นที่ด้านหลังโภชนาการ ททท. เขาใหญ่ก็ได้ ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
หรือจะเริ่มที่ กม. 5.5 ถนนเขาใหญ่ - ปราจีนบุรีก็ได้ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร
กลุ่มน้ำตกผาตะแบก
น้ำตกกลุ่มนี้เป็นน้ำตกขนาดไม่เล็กมากนักเกิดบนห้วยน้ำซับ ลักษณะของน้ำตกเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันลงไป 5 ชั้น
จากปากทางเข้าบนถนนสายเขาใหญ่ - ปราจีนบุรี ช่วงระหว่าง กม. 6.5 - 7 จะมีทางเดินเท้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จัดทำเอาไว้เดินเข้าไปเพียง 500
เมตร ก็จะถึงน้ำตกแห่งแรก คือ น้ำตกผากระจาย และเดินต่อไปอีกจะถึง น้ำตกผาหินขวาง
น้ำตกผารากไทร น้ำตกผาชมพู และน้ำตกผาตะแบก รวมระยะทางในการเดินเท้าทั้งสิ้นประมาณ 3 กิโลเมตร
|
|
เพิ่มเติมข้อมูลให้เรา
|
|
: : : จุ ด ช ม ทิ ว ทั ศ น์ : : :
|
จุดชมทิวทัศน์ :-
จุดชมทิวทัศน์ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่เด่นๆ มีด้วยกัน 3 จุด
ดังนี้
จุดชมทิวทัศน์ กิโลเมตรที่ 30 ถนนธนะรัชต์
สามารถชมทิวทัศน์ด้านทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้เป็นบริเวณกว้างและสวยงาม
จุดชมทิวทัศน์เขาเขียว ( ผาตรอมใจ )
นับเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม น่าชม เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก
มีลักษณะคล้ายผานกเค้าที่ภูกระดึง จะมองเห็นภูเขาร่มกวางอยู่เป็นแนวยาวและทิวทัศน์ที่สวยงามด้านจังหวัดปราจีนบุรี
ตอนเช้าตรู่จะเห็น พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าเป็นดวงกลมสีแดง เหนือสันเขาที่สวยงาม
จุดชมทิวทัศน์ กม. 9
อยู่ช่วงกิโลเมตรที่ 9 ถนนขึ้นเขาเขียว สามารถมองเห็นทิวทัศน์
ป่าไม้และภูเขาสูงด้านทิศเหนือตลอดแนวได้เป็นอย่างดี
|
|
: : : ห อ ดู สั ต ว์ : : :
|
หอดูสัตว์ :-
หอดูสัตว์
เป็นสถานที่ที่จัดทำขึ้นสำหรับการซุ่มดูสัตว์ป่า นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่เวลา
16.00 - 18.00 น. จำนวน 2 แห่งได้แก่
หอดูสัตว์หนองผักชี
อยู่บริเวณหนองผักชี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า รอบๆ หนองน้ำเป็นทุ่งหญ้าคากว้างใหญ่ มีโป่งสัตว์ ปากทางเข้าอยู่บริเวณ
กม. 35 - 36 ถนนธนะรัชต์ เดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
หอดูสัตว์มอสิงโต
อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำมอสิงโต รอบๆ มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าโล่งที่เหมาะสำหรับซุ่มดูสัตว์ป่าที่มากินดินโป่ง
ซึ่งเป็นดินที่มีแร่ธาตุสำคัญของสัตว์กินพืช อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 500 เมตร
|
|
: : : ศู น ย์ บ ริ ก า ร นั ก ท่ อ ง เ ที่ ย ว : : :
|
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว :-
เป็นแหล่งข้อมูลของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ ภายในมีการจัดนิทรรศการ บรรยายให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว
|
|
: : : ศ า ล เ จ้ า พ่ อ เ ข า ใ ห ญ่ : : :
|
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ :-
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 ตั้งอยู่ที่ กม. 24 ถนนธนะรัชต์ เส้นทางขึ้นเขาใหญ่ ด้านอำเภอปากช่อง
นักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้าอุทยานฯ และประชาชนทั่วไปมักแวะไปกราบไหว้ขอโชคลาภและขอพรอยู่เสมอ
|
|
: : : กิ จ ก ร ร ม ท่ อ ง เ ที่ ย ว : : :
|
กิจกรรมท่องเที่ยว :-
ส่องสัตว์
เป็นกิจกรรมที่ใช้ไฟส่องสัตว์ในเวลากลางคืนไปตามถนนสองข้างทาง เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยมมาก
สามารถติดต่อขออนุญาตได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ ก่อนเวลา 18.00 น. ทุกวัน
เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเส้นทางเดินป่าระยะสั้น และเส้นทางเดินป่าประเภทท่องไพร สามารถสอบถามรายละเอียดการเดินป่า
และติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แบ่งเป็น
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ( Nature trail )
เส้นทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยว - น้ำตกกองแก้ว ระยะทางประมาณ 1,200 เมตร
เส้นทางนี้จะปูด้วยตัวหนอน มีป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเองได้
- เส้นทางเดินป่าประเภทไม่พักแรม( Niking trail )
มีอยู่ 13 เส้นทาง จัดทำอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีระยะทางตั้งแต่ 1 - 8
กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 - 5 ชั่วโมง ต้องติดต่อขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่
ก่อนเข้าไป
- เส้นทางเดินป่าแบบท่องไพร( Trekking trail )
เป็นเส้นทางที่ต้อง มีการพักแรมในป่า โดยมากเป็นเส้นทางที่อยู่รอบอุทยานฯ
ใช้เวลาค้างคืนตั้งแต่ 1 - 3 คืน สามารถติดต่อเดินป่าได้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ใกล้เคียงและที่ทำการอุทยานฯ
ดูนก
เขาใหญ่เป็น แหล่งดูนกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง
เส้นทางดูนกจะอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ เส้นทางเดินป่าสองข้างทางถนนและบริเวณสนามกอล์ฟเดิม
|
|
เพิ่มเติมข้อมูลให้เรา
|
|
ภาพถ่าย :-
|
ส่งภาพถ่ายให้เรา
|
|
สภาพภูมิประเทศ :-
สภาพทั่วๆ ไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนกันหลายลูก ได้แก่
- เขาร่ม ซึ่งเป็น ยอดเขาที่สูงที่สุด สูง 1,326 เมตร
- เขาเขียว สูง 1,292 เมตร
- เขาสามยอด สูง 1,142 เมตร
- เขาฟ้าผ่า สูง 1,078 เมตร
- เขากำแพง สูง 875 เมตร
- เขาสมอปูน สูง 805 เมตร
- เขาแก้ว สูง 802 เมตร
ซึ่งวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์ และยังประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นที่สูงชันไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย คือ
- แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก
ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรกรรมและระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้
มาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงแล้วไหลลงสู่อ่าวไทย
- แม่น้ำลำตะคองและแม่น้ำพระเพลิง
ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่าง ไหลลงสู่แม่น้ำโขง
- ห้วยมวกเหล็ก
ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็ก
|
|
สภาพภูมิอากาศ :-
สภาพป่ารกทึบ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป
จัดอยู่ในประเภทเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมนันทนาการชนิดต่างๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ
23 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวในที่อื่น แต่ที่เขาสูงบนเขาใหญ่อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำในลำธาร
และนำอาหารไปรับประทาน ไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่ง บ้างออกผลตามฤดูกาล
ฤดูฝน เป็นช่วงหนึ่งของปีที่สภาพบนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่า
ให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน แม้การเดินทางจะลำบากกว่าปกติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ลดน้อยลงเลย
ฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็น ฤดูที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด
ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้ พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้าไกลโพ้น อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน
แต่รุ่งเช้าวันใหม่เราจะพบกับธรรมชาติที่สวยงามแตกต่างไปจากเมื่อวานอีกแบบหนึ่ง กิจกรรมเล่นแคมป์ไฟเหมาะสมในฤดูนี้มาก
|
|
พรรณไม้ :-
แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. ป่าเบญจพรรณแล้ง
ลักษณะของป่าชนิดนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีระดับความสูงระหว่าง 200 - 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ในฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีไฟลุกลามเสมอ และตามพื้นป่าจะมีหินปูนผุดขึ้นอยู่ทั่วๆ ไป
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ เช่น มะค่าโมง ประดู่ ตะแบก ตะเคียนหนู แดง นนทรี ซ้อ ปออีเก้ง สมอ พิเภก ตะคล้ำ เป็นต้น
พืชพื้นล่าง
มีไม้ไผ่และหญ้าต่างๆ รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย
2. ป่าดงดิบแล้ง
ลักษณะของป่าชนิดนี้อยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลูกเนินในระดับความสูง 200 - 600 เมตร
จากระดับน้ำทะเล
ไม้ชั้นบน
ได้แก่ ไม้ยางนา พันจำ เคี่ยมคะนอง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะแบก สมพง สองสลึง มะค่าโมง ปออีเก้ง สะตอ ซาก และคอแลน เป็นต้น
ไม้ยืนต้นชั้นรอง
ได้แก่ กะเบากลัก หลวงขี้อาย และกัดลิ้น เป็นต้น
พืชจำพวกปาล์ม
เช่น หมากลิง และลาน
พืชพื้นล่าง
ประกอบด้วยพืชจำพวกมะพร้าว นกคุ้ม พวกขิง ข่า กล้วยป่าและเตย เป็นต้น
3 ป่าดงดิบชื้น
ลักษณะของป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400 - 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล จะมีชนิดไม้คล้ายคลึงกับป่าดงดิบแล้ง
เพียงแต่ว่าไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน และกระบาก โดยเฉพาะพื้นที่ถูกรบกวนจะพบชมพู่ป่าและกระทุ่มน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป
พรรณไม้ผลัดใบ เช่น ปออีเก้ง สมพง และกว้าว แทบจะไม่พบเลย บริเวณริมลำธารมักจะมีไผ่ลำใหญ่ๆ คือ ไผ่ลำมะลอกขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ป่าดิบชื้นบนที่สูงขึ้นไปจะมียางปายและยางควน
นอกจากไม้ยางแล้วไม้ชั้นบนชนิดอื่นๆ ยังมี เคี่ยมคะนอง ปรก บรมือ จำปีป่า พะดงและทะโล้ ไม้ชั้นรอง ได้แก่ ก่อน้ำ ก่อรัก ก่อด่าง และก่อเดือย ขึ้นปะปนกัน
4. ป่าดิบเขา
Hill Evergreen Forest
ป่าชนิดนี้เกิดอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นบนภูเขาสูง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป
สภาพป่าแตกต่างไปจากป่าดงดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เลย พรรณไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น พญาไม้ มะขามป้อมดง ขุนไม้ และสนสามพันปี
และ ไม้ก่อชนิดต่างๆ ที่พบขึ้นในป่าดงดิบชื้น นอกจากก่อน้ำและก่อต่างๆ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 - 900 เมตรเท่านั้น
ตามเขาสูงจะพบต้นกำลังเสือโคร่งขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ชั้นรอง ได้แก่ เก็ดล้านส้มแปะ แกนมอ เพลาจังหัน และหว้า พืชชั้นล่าง ได้แก่ ต้างผา
กำลังกาสาตัวผู้ กูด และกล้วยไม้ดิน
5. ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นหรือป่าเหล่า
ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นผลเสียเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ก่อนมีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติได้มีราษฎรอาศัยอยู่และได้แผ้วถางป่าทำไร่
เมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณไร่ดังกล่าวจึงถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาเสียส่วนใหญ่ บางแห่งมีหญ้าแขม หญ้าพง หญ้าขนตาช้างเลา และตองกง
และยังมีกูดชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น โขนใหญ่ กูดปี้ด โขนผี กูดงอดแงด และกูดตีนกวาง
เนื่องจากในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีการป้องกันไฟป่าเป็นอย่างดี พื้นที่ป่าหญ้า หรือป่าเหล่านี้จึงไม่ถูกรบกวนจากไฟป่าเลย ดังนั้น
จึงมีพันธุ์ไม้เบิกนำจำนวนไม่น้อยแพร่พันธุ์กระจัดกระจายทั่วไป เช่น สอยดอย บรมือ ลำพูป่า เลี่ยน ปอหู ตลงแตบ ฯลฯ ปัจจุบันพื้นที่ป่าทุ่งหญ้าบางแห่งได้กลับฟื้นคืนสภาพ
เป็นป่าละเมาะบ้างแล้ว
|
|
สัตว์ป่า :-
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก ในบางโอกาสขณะขับรถยนต์ไปตามถนน ท่านจะสามารถเห็นสัตว์ป่าเดินผ่านหรือออกหากินตามทุ่งหญ้า
หรืออาจจะเห็นโขลงช้างออกหากินริมถนน ลูกช้างเล็กๆ ซนและน่ารักมาก บริเวณตั้งแต่ที่ชมวิวกิโลเมตรที่ 30
จนถึงปากทางเข้าหนองผักชี ตลอดจนโป่งต้นไทร ในปัจจุบันถ้าขับรถยนต์ขึ้นเขาใหญ่ทางด่านตรวจเนินหอม ข้ามสะพานคลองสามสิบไปแล้ว
สามารถเห็นโขลงช้างได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในตอนกลางคืน จากการศึกษาตามโครงการอนุรักษ์ช้างป่าและการจัดการพื้นที่ป้องกัน
( ELEPHANT CONSERVATION AND PROTECTED AREA MANAGEMENT )
โดย MR. ROBERT J. DOBIAS ภายใต้ความร่วมมือของ WWF
และ IUCN ในปี พ.ศ. 2527-2528 พบว่ามีจำนวนประมาณ 250 เชือก
สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อยๆ และตามโอกาสอำนวย
ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่วๆ ไป นอกจากนี้ยังพบเสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หรือ หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า
นกชนิดต่างๆ
จำนวน 200 ชนิด จากจำนวนไม่น้อยกว่า 293 ชนิด
ที่สำรวจพบอาศัยอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและที่อาศัยถาวร
นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย
ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า
และนกกินแมลงชนิดต่างๆ นกเงือกทั้ง 3 ชนิด ที่พบบนเขาใหญ่
นับว่าเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชอบดูนกเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นได้ทั่วไป
แมลง
พวกแมลงที่มีมากก็คือ ผีเสื้อชนิดต่างๆ ที่สวยงามมีประมาณ 5,000 ชนิด
|
|
สถานที่พักแรม :-
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีบ้านพัก และสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
งานบ้านพัก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
61 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 02-5620760
เพิ่มเติม :-
สถานที่กางเต็นท์ผากล้วยไม้
..... รับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 800 คน มีบริการเช่าเต็นท์และอื่นๆ หรือนักท่องเที่ยวจัดเตรียมมาเองได้
ติดต่อโดยตรงที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขญ. 19 ( ผากล้วยไม้ ) ก่อนเวลา 18.00 น. ทุกวัน
สถานที่กางเต็นท์ลำตะคอง
..... รับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 600 คน มีบริการเช่าเต็นท์และอื่นๆ หรือนักท่องเที่ยวจัดเตรียมมาเอง
ค่ายพักแรม
..... จำนวน 2 หลัง คือ ค่ายพักกองแก้วและค่ายพักเยาวชน สำหรับกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ รับนักเรียน นักศึกษาได้
250 คน ไม่มีเครื่องนอน ต้องนำมาเอง
โดยทำหนังสือขออนุญาตไปที่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
..... อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีขนาดใหญ่พอที่จะรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 150 คน
บริเวณนี้มีโรงประชุมซึ่งสามารถบรรจุคนได้ถึง 1,500 คน ใช้สำหรับเป็นที่ประชุม บรรยาย ฉายสไลด์และภาพยนตร์
|
|
สิ่งอำนวยความสะดวก :-
สาธารณูปโภค
..... มีถนนระบบสองทางเชื่อมโยงจากการบริการ ไปยังจุดท่องเที่ยวและนันทนาการต่างๆ อย่างทั่วถึง ความยาวรวมกันกว่า 86
กิโลเมตร มีไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้สิ่งอำนวยความสะดวกยังรวมไปถึง
..... ร้านอาหาร สถานที่บริการน้ำมันเชื้อเพลิง โทรทัศน์ หน่วยกู้ภัย และพยาบาลสนาม ร้านขายของที่ระลึก และลานแคมป์ไฟ
ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกตลอดเวลา
|
|
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :-
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตู้ ปณ. 9 อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130
โทรศัพท์ 08-1877-3127, 08-6092-6531
หรือที่เว็บไซต์ http://www.dnp.go.th
|
|
ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ :-
- ไม่ทำการยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางป่า นำออกไปซึ่งแร่, ดิน, หิน, พรรณไม้ และสัตว์ป่า ตลอดจนของป่าทุกชนิด
- ไม่ล่าสัตว์และไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
- ไม่ทำเสียงดังจนเป็นที่รบกวนแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์
- ต้องช่วยระมัดระวังมิให้เกิดไฟไหม้ป่า หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟ เมื่อเสร็จแล้วกรุณาช่วยดับให้เรียบร้อย
- หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่
|
|
สถานที่พักแรม :-
โรงแรม จุลดิศ เขาใหญ่ รีสอร์ท แอนด์ สปา ( Juldis Khao Yai Resort & Spa )
เดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท ( Greenery Resort Khao Yai )
โรงแรม สักภูเดือน รีสอร์ท ( Sak Phu Duen Hotel & Resort )
คิริมายา กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์สปา ( Kirimaya Golf Resort & Spa )
บ้านระเบียงดาว การ์เด้น แอนด์ รีสอร์ท ( Rabiangdao Garden & Resort )
เขาใหญ่ แกรนด์วิว รีสอร์ท ( Kao Yai Grandview Resort )
English
|
Thai
ที่พักอื่น ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา คลิกที่นี่เลยจ้า..
|
สนใจนำที่พักมาลงตรงนี้ติดต่อ 08-1629-3354 โจ
|
|
การเดินทาง :-
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คลิกที่นี่
|
|
|
แผนที่ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ :-
แผนที่ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
|
|
|