: : : อุ ท ย า น แ ห่ ง ช า ติ อ่ า ว พั ง ง า : : :
|
- - - - > แลกเปลี่ยนประสบการณ์ < - - - -
|
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร
ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่มาก นับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่งจนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง
และบริเวณพื้นน้ำในทะเลอันดามัน ซึ่งมีพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 42 เกาะ เช่น
เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า เกาะโบยน้อย เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เกาะปันหยี เขาพิงกัน เป็นต้น
|
ภาพโดย Island Tour
|
ส่งภาพถ่ายให้เรา
|
|
ข้อมูลเพิ่มเติม :-
ตามลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของดินแดนภาคใต้ฝั่งตะวันตก
เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับแนวทิวเขาแกรนิตที่เรียกว่า ทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาภูเก็ต ที่ทอดยาวไปจนถึงจังหวัดพังงา - ภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีตาเชียสกับยุคเทอร์เซียรีตอนต้น
อายุประมาณ 36-136 ล้านปีมาแล้ว ภูมิสันฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้ ยังเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน
มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า "รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย" และ "รอยเลื่อนพังงา"
นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนลูกโดด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง
โพรง หรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระเว้าๆ
แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดกระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นฝั่งทะเลเปิด
จึงได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ใน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน ทะเลมีคลื่นลมจัด ฝั่งทะเลช่วงใดที่ไม่มีเกาะกำบังจึงกลายเป็นฝั่งซึ่งมีชายหาดชันและน้ำลึก
ในระยะใกล้ฝั่ง ส่วนฝั่งทะเลช่วงที่มีเกาะกำบังลมด้านนอก หรือฝั่งตอนที่เป็นอ่าวเว้าไม่รับลมมรสุมเต็มที่ จะมีลักษณะเป็นบริเวณที่พื้นดินอ่อนเป็นโคลนเลน
มีป่าชายเลนขึ้นหนาแน่นตามขอบฝั่งและเลยลึกเข้าไปในฝั่งที่น้ำเค็มเข้าไปถึง ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดบริเวณ อ่าวพังงา
จังหวัดพังงานี้เอง
จากลักษณะเกาะแก่งและธรรมชาติที่สมบูรณ์ สวยงาม และมีชื่อเสียง
จังหวัดพังงาจึงได้เสนอพื้นที่บริเวณถ้ำลอด เกาะปันหยี และเขาพิงกัน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2517 เป็นต้นมา โดยใช้ชื่อว่า
วนอุทยานศรีพังงา และต่อมากรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณอ่าวพังงาเพิ่มเติมและดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
โดยกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ภายใต้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร
ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่มาก นับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่งจนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง
และบริเวณพื้นน้ำในทะเลอันดามัน ซึ่งมีพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 42 เกาะ เช่น
เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า เกาะโบยน้อย เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เกาะปันหยี เขาพิงกัน เป็นต้น
บริเวณเขาเต่าในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
ได้มีการค้นพบหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยพบหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัย รวมถึงการฝังศพของผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
จากการศึกษาของนักธรณีวิทยา โดยนำเอาฟอสซิลของหอยบริเวณถ้ำและเพิงผาตามเกาะและหินโผล่ในอ่าวพังงา พบว่าในระหว่างยุคไพลสโตซีนกับไฮโลซีน คือ
เมื่อประมาณ 11,000 ปี ที่ผ่านมาระดับน้ำทะเลลดต่ำลงมากในช่วงยุคน้ำแข็ง ภูเขาหินที่เป็นเกาะแก่งดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงอยู่บนที่ดอน
ไม่มีสภาพเป็นเกาะดังที่เป็นอยู่ ต่อมาในช่วง 7,500-8,500 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลค่อยๆ ขยับสูงขึ้นจนสูงสุด คือ สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางในปัจจุบันถึง 4.5 เมตร
และต่อมาในช่วง 4,000-5,000 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลขึ้นๆ ลงๆ ( มีทั้งขึ้นสูงและลดต่ำกว่าปัจจุบัน ) ในช่วงระหว่าง 2,700-3,700 ปีมาแล้วนั้น
ระดับน้ำทะเลค่อนข้างจะคงตัว แต่ยังสูงกว่าปัจจุบันระหว่าง 1.5-2.5 เมตร และตั้งแต่ 1,500 ปีเป็นต้นมา ระดับน้ำทะเลสูงสุดกว่าปัจจุบัน 1.5 เมตร เช่นกัน
ดังนั้นระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ช่วงนี้เริ่มใกล้เคียง จนกระทั่งมีสภาพคล้ายคลึงกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเรื่อยมาตามลำดับ
การค้นพบในครั้งนั้นให้ผลสืบเนื่องอันสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจ
ถึงการดำรงชีวิตของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาและบริเวณใกล้เคียง กล่าวคือ มนุษย์ซึ่งเคยอาศัยในเขตจังหวัดกระบี่และพังงา
เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว อาจสัญจรไปมาและเข้าอยู่อาศัยตามเพิงผา และถ้ำได้โดยสะดวก โดยมิต้องอาศัยแพหรือเรือ แต่เวลาผ่านไปในช่วงระดับน้ำทะเลขึ้นสูง
กลุ่มชนที่สืบเชื้อสายต่อมาคงถอยร่นเข้ามาอาศัยอยู่บนพื้นที่ดอนภายใน และอาจมีกลุ่มชนที่รู้จักการทำแพ เรือ สัญจรไปในห้วงน้ำในอ่าวพังงาบ้าง
แต่แหล่งเหล่านี้อาจไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยถาวร ถ้ำและเพิงผา บางแห่งริมอ่าวพังงาที่ปัจจุบันตั้งบนที่ดอนในบางช่วงของอดีตอาจมีลักษณะคล้ายเกาะ คือ
มีน้ำล้อมรอบ ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม หรือมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานใหม่ จนกระทั่งเป็นชุมชนที่มีความสามารถทางทะเล
ซึ่งประจักษ์พยานของการตั้งถิ่นฐานและการเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ปรากฏจากแหล่งโบราณคดี
สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นงานสร้างสรรค์ ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ เขาเขียน เกาะปันหยี เขาระย้า ถ้ำนาค และเกาะพระอาตเฒ่า
โบราณวัตถุที่พบที่เขาพังมีเครื่องกะเทาะหินหลายชิ้น
นอกจากนั้นพบเศษภาชนะดินเผาแบบเรียบ ลายเชือกทาบ หินลับ แกนหิน และสะเก็ด ที่มีร่อยรอยการกะเทาะ แต่ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องมือที่ชัดเจนเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ที่ เกาะพระอาตเฒ่า ยังมีการค้นพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ แบบเรียบ แบบลายเชือกทาบ ชิ้นส่วนขวานหินขัด เครื่องมือสะเก็ดหิน กระดูกปลามีรอยขัดฝน
ภาพเขียนหินบนผนังในอ่าวพังงา
ส่วนใหญ่เป็นภาพลายเส้น มีการระบายสีบ้าง มีทั้งวาดเส้นด้วยสี เขียนด้วยสีอย่างแท้จริง และเขียนด้วยการหยดสี สะบัดสี มักเขียนด้วยสีแดงและสีดำ มีสีอื่นๆ
บ้างแต่เป็นส่วนน้อย รูปลักษณ์ที่เขียนมีทั้งลักษณะที่เป็นรูปร่างของคนและสัตว์ เช่น ภาพคนแบกปลา ปลา กุ้ง ค่าง นก ช้าง และรูปลักษณ์ของสิ่งไม่มีชีวิต เช่น
ลายเส้นคล้ายยันต์หรือตัวอักษร ลูกศร เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เรือ เป็นต้น
|
Top |
: : : ส ถ า น ที่ น่ า ส น ใ จ : : :
|
สถานที่น่าสนใจ :-
เกาะพนัก
ลักษณะเป็นเกาะใหญ่กลางทะเล ระหว่างเส้นทางเดินเรือ จากภูเก็ต - พังงา ประกอบด้วยทะเลใน ซึ่งมี ถ้ำมืด ถ้ำสว่าง
การเข้าสู่ทะเลในต้องใช้ เรือซีแคนู เพียงอย่างเดียวจึงจะเข้าไปได้ มีความลึกตั้งแต่ 50-150 เมตร มีทั้งหมด 5 จุด
เกาะห้อง
ลักษณะเป็นเกาะหินปูน มี หินงอกหินย้อย คล้ายห้องหลายๆ ห้อง ต่อเรียงกันเป็นแถว
ท่องเที่ยวโดยเรือจอดหน้าเกาะ ใช้เรือซีแคนูเลาะชมรอบๆ เกาะ และทะเลใน 1 จุด
เกาะทะลุนอก
ลักษณะเป็นเขาหินปูน มี ถ้ำทะเล คล้ายๆ ถ้ำลอดใหญ่ แต่เล็กกว่า
เรือสามารถแล่นลอดผ่านได้ เช่นเดียวกับถ้ำลอดใหญ่
เขาตาปู - เขาพิงกัน
เขาพิงกันเป็นจุดที่เรือทุกลำจอดให้นักท่องเที่ยวชมและถ่ายรูป ด้านหน้าเป็นเขาตาปูซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ
เพราะเป็นฉากหนึ่งของ ภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอน
เกาะปันหยี
เป็นหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งก่อสร้างบนพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง บ้านถูกสร้างยกระดับให้พ้นการขึ้นลงของน้ำทะเล
บริเวณหมู่บ้านอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวปันหยีเป็นชุมชนชาวประมงดั้งเดิม ประกอบอาชีพประมงน้ำตื้น โดยการทำประมงอวนลอย โป๊ะ เลี้ยงหอยแครง เลี้ยงปลากระชัง
รับจ้าง ตัดไม้เผาถ่านตามสัมปทานเดิม ปัจจุบันเกาะปันหยีเป็นชุมชนรองรับนักท่องเที่ยว โดยปรับปรุงบ้านอยู่อาศัยเดิมบางส่วนเป็นร้านอาหาร
และจำหน่ายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาควรแวะชม
นอกจากนี้
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ยังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายหลายแห่ง อาทิ
เกาะละวะใหญ่ เขาหมาจู เกาะไข่ ถ้ำลอด ถ้ำพ่อตาขุนทอง ถ้ำนาค ถ้ำแก้ว แล้วยังมี ภาพเขียนสีโบราณ
ที่มีคุณค่าและน่าสนใจที่ เขาเขียน เกาะปันหยี เขาระย้า ถ้ำนาค เกาะพระอาตเฒ่า
ซึ่งจากการค้นคว้าของกรมศิลปากรพอจะทราบได้ว่าภาพเขียนโบราณเหล่านี้มีอายุมากกว่า 1,000 ปี
|
|
เพิ่มเติมข้อมูลให้เรา
|
|
ภาพถ่าย :-
|
ส่งภาพถ่ายให้เรา
|
|
พรรณไม้ :-
ป่าชายเลน
อ่าวพังงา นับว่ามีป่าชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ผืนหนึ่งของประเทศไทย มีความสำคัญต่อระบบนิเวศชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแนวกันคลื่นลมตามธรรมชาติ
เป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและเป็นสถานอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น กุ้ง หอย ปู และปลาชนิดต่างๆ เป็นต้น
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ถั่วขาว ถั่วดำ ประสักแดง ตะบูนขาว ตะบูนดำ แสมขาว และแสมดำ เป็นต้น
พืชพื้นล่าง
ได้แก่ จาก และเหงือกปลาหมอ
ป่าบก
สำหรับป่าบกที่ขึ้นอยู่บริเวณพื้นที่ริมชายฝั่งและเกาะต่างๆ เป็นป่าประเภทไม่ผลัดใบ ซึ่งจัดเป็นป่าดงดิบชื้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่
1. ป่าบกพื้นที่ราบหรือที่เป็นหุบเขา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีดินลึก มีอินทรีย์วัตถุสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ได้แก่ ตะเคียนทราย ประดู่ กะเบาลิง ขานาง ไม้ลาย ชก เต่าร้าง หวาย เถาพันลิง มะลิวัลย์ พืชในวงศ์บอน วงศ์ขิงขา และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ เป็นต้น
2. ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนเกาะหินปูน พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่กระจัดกระจายตามซอกหินซึ่งมีดินอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก
ไม้ยืนต้นมีจำนวนน้อยและแคระแกร็น
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ได้แก่ จันทน์ผา สลัดได เตยเขา ปรงเขา หนวดหิน พืชในวงศ์ขิงขา กล้วยไม้ดิน และพืชในวงศ์บอน เป็นต้น
|
|
สัตว์ป่าและสัตว์น้ำ :-
ในปี 2534
ได้มีการสำรวจชนิดและประชากรของสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา พบว่า อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า
206 ชนิด ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 17 ชนิด
สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
จำนวน 2 ชนิด คือ ชะนีธรรมดา และเลียงผา ซึ่งในปัจจุบันคาดว่า หมดไปจากพื้นที่แล้ว เนื่องจากสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายและจากการรบกวนของมนุษย์
สัตว์ที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม
จำนวน 3 ชนิด คือ ค่างแว่นถิ่นใต้ นากใหญ่ขนเรียบ และลิงแสม
นกชนิดต่างๆ
จำนวน 88 ชนิด
เป็นนกประจำถิ่น 67 ชนิด และเป็นนกอพยพย้ายถิ่น 21 ชนิด เช่น นกยางทะเล นกออก
นกซ่อมทะเลอกแดง นกกระเต็น นกแก๊ก นกนางแอ่นกินรัง เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 18 ชนิด เช่น เหี้ย ตะกวด จิ้งเหลนต้นไม้ งูปากกว้างน้ำเค็ม
งูสร้อยเหลือง เป็นต้น
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ กบน้ำเค็ม กบหนอง และเขียด ตะปาด
สัตว์น้ำ จำนวน 80 ชนิด โดยแบ่งเป็น
++ ปลา จำนวน 24 ชนิด
++ กุ้ง จำนวน 14 ชนิด
++ ปู จำนวน 15 ชนิด
++ สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ จำนวน 16 ชนิด
เช่นปลากระเบน ปลาฉลาม ปลากระบอก ปลาจาระเม็ด ปลาทู ปลาเก๋า ปลาสลิดหิน ปลาโนรี กุ้งตะกาด กุ้งแชบ๊วย ปูม้า ปูแสม แม่หอบ หอยงาช้าง หอยลาย หมึกหอม
ปะการังสมอง ปะการังเขากวาง และปะการังดอกจอก เป็นต้น
|
|
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :-
งานบริการบ้านพัก ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2561-2919-21
หรือติดต่อที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 หมู่ 1 ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา 82000
โทรศัพท์ 0-7641-2188 โทรสาร 0-7641-2188
หรือที่เว็บไวต์ http://www.forest.go.th
|
|
ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ :-
นักท่องเที่ยว หรือนักดำน้ำ โปรดช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่อยู่บนบก ในเรือ หรือขณะดำน้ำ เช่น
- ไม่เหยียบ หรือเก็บปะการัง กัลปังหา หรือหอย ไปเป็นของที่ระลึกส่วนตัว
- ไม่ทำอันตรายต่อสัตว์น้ำทุกชนิด
- หากพบขยะใต้ท้องทะเล โปรดเก็บมาทิ้งในถังขยะบนเรือหรือที่ชายฝั่ง
- โปรดอย่าทิ้งขยะในท้องทะเล เก็บไว้ในเรือจนกว่าจะถึงฝั่ง
- ควรทิ้งขยะในที่รองรับเท่านั้น
- ไม่ควรนำเรือเข้าใกล้แนวปะการังน้ำตื้นมากเกินไป เพราะอาจจะเกิดการหักพังของปะการัง
- ไม่ควรซื้อของที่ระลึกที่มีซากปะการัง กัลปังหาเป็นส่วนประกอบ เพราะเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้มีการเก็บปะการัง กัลปังหาเพิ่มขึ้น
- ไม่ควรทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง ควรผูกเรือไว้กับทุ่นจอดเรือในบริเวณที่จัดไว้
|
|
การเดินทาง :-
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา สามารถเดินทางได้โดยเริ่มต้นจากตัวจังหวัด ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4
ที่มุ่งใต้สู่ตำบลโคกลอย ผ่านศาลากลางจังหวัดพังงา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร มี ทางแยก
เข้าทางหลวงหมายเลข 4144 มุ่งไปสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งอยู่ห่างจากทางแยกประมาณ 4 กิโลเมตร
1. จังหวัดพังงา - ที่ทำการอุทยานฯ สามารถเดินทางได้โดย รถโดยสารประจำทาง
ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
2. บ้านท่าด่าน - รอบเกาะในอ่าวพังงา สามารถเดินทางได้โดย เรือยนต์รับจ้าง
ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
3. ท่าเรือกระโสม ต.ตะกั่วทุ่ง - รอบเกาะในอ่าวพังงา สามารถเดินทางได้โดย เรือยนต์รับจ้าง
ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
|
|
|
แผนที่ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา :-
|
|
|