อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
อยู่ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาน
จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ
สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง
มีเนื้อที่ประมาณ 966 ตารางกิโลเมตร หรือ 603,750 ไร่
ประวัติความเป็นมา :-
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502
ให้กำหนดป่าน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ
ในปี พ.ศ. 2511 กรมป่าไม้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่บริเวณป่าน้ำหนาว ปรากฎว่ามีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์
มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2513 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2513 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 143 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 กำหนดบริเวณป่าน้ำหนาวในท้องที่ตำบลบ้านโคก อำเภอเมือง ตำบลบ้านกลาง ตำบลบ้านติ้ว
ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก ตำบลน้ำหนาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาน
จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ รวมเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่
ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 89 ตอนที่ 71 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2515
เป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 5 ของประเทศไทย
ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ (เดิม) กรมป่าไม้
ได้มีหนังสือที่ กส 0708/2214 ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2523 ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ตรวจสอบพิจารณาชื่อตำบลที่ตกหล่นในอุทยานแห่งชาติที่รับผิดชอบ
ซึ่งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้มีหนังสือที่ กส 0708(นน)/223 ลงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2525 รายงานว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 143 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2515
ได้กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงท้องที่ตำบลปากช่อง และตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
ด้วย แต่มิได้ระบุชื่อตำบลทั้ง 2 ไว้ กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2523 ้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2523
เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดขยายเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมตำบลที่ตกหล่นได้ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในท้องที่ตำบลท่าอิบุญ
ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 88 ตอนที่ 137 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2525
ตามที่ กรมป่าไม้ ได้จัดงานวันสถาปนากรมป่าไม้ครบรอบ 104 ปี
เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2543 โดยได้จัดประกวดอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยวประจำปี 2543 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ปีท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ 2543
และคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกอุทยานแห่งชาติดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ปี 2543 ปรากฎว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
ได้รับรางวัล " รองชนะเลิศอันดับที่ 1 " ในการประกวด อุทยานแห่งชาติดีเด่น ประจำปี 2543
สถานที่น่าสนใจ :-
ถ้ำผาหงษ์
ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 39 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12
( ดอยหล่มสัก - ชุมแพ ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 300 เมตร มีลักษณะเป็นเขาสูง มีทางเท้าเดินขึ้นยอดเขาประมาณ
200 เมตร เพื่อ ชมทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น
ภายในถ้ำมี หินงอกหินย้อย ที่สวยงาม
สวนสนบ้านแปก ( ดงแปก )
ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 49 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12
( ดอยหล่มสัก - ชุมแพ ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าสนสองใบ ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่เพียงชนิดเดียวตามธรรมชาติ
ต้นไม้พื้นล่างประกอบด้วยทุ่งหญ้าและหญ้าเพ็กเป็นจำนวนมาก มีความสวยงาม
สวนสนภูกุ่มข้าว
ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 53 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12
( ดอยหล่มสัก - ชุมแพ ) มีทางลูกรังมาตรฐานจากแยกกิโลเมตรที่ 53 ถึงสวนสนภูกุ่มข้าว ระยะทาง
15 กิโลเมตร เป็นป่าสนสามใบ มีต้นสนขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ 30 - 40
เมตร ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนาแน่นแทบไม่มีไม้อื่นปะปนอยู่ มีพื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร
ไม้พื้นล่างประกอบด้วย ทุ่งหญ้าคา หญ้าเพ็ก จำนวนมากเช่นเดียวกัน ในฤดูแล้งทุ่งหญ้าใต้ต้นสนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแก่ พอถึงฤดูฝนใหม่ทุ่งหญ้าเหล่านี้ก็จะกลับเขียวอีกครั้งหนึ่ง
เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป โดยเฉพาะฤดูฝนตามทุ่งหญ้าจะมีพันธุ์ไม้หลากสีนานาพรรณขึ้นอยู่อย่างสวยงามมาก
.... บริเวณสวนสนนี้ มีเนินเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง เรียกว่า " ภูกุ่มข้าว " สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ
880 เมตร เป็นเนินเขาที่เป็นจุดเด่นจุดหนึ่งท่ามกลางสวนสน เมื่อขึ้นไปยืนบนเนินเขาภูกุ่มข้าว
จะเห็นแนวยอดสนอยู่ในระดับสายตา สามารถมองเห็นแนวยอดสนเป็นแนวติดต่อกันเป็นพืดทั้งสี่ด้านของภูกุ่มข้าว ดูแล้วคล้ายๆ ท้องทะเลของยอดสน
เมื่อมองไปทางทิศใต้จะเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ ( น้ำพรม ) ที่กว้างใหญ่
น้ำตกเหวทราย
ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 67 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12
( ดอยหล่มสัก - ชุมแพ ) ระยะทางเดินเท้า 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยสนามทราย ซึ่งมีต้นน้ำที่ป่าดงดิบชื่อ
ดงแหน่ง ไหลผ่านป่าซำผักคาว ลำห้วยสนามทรายนี้เป็นแนวธรรมชาติที่แบ่งเขตแดนระหว่างกิ่งอำเภอน้ำหนาว
จังหวัดเพชรบูรณ์ กับอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
น้ำตกเหวทราย เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณด้านใต้น้ำตกมีแอ่งน้ำลึก สามารถลงเล่นน้ำ
และใต้น้ำตกมีชะง่อนหินขนาดใหญ่เป็นเพิงสามารถพักแรมหลบฝนได้ บรรยากาศบริเวณลำห้วยน่าเดินเล่น มีต้นไม้ปกคลุมตลอด
ในฤดูฝน น้ำตกมีปริมาณน้ำมากและสวยงามมาก
น้ำตกทรายทอง
เป็นน้ำตกที่อยู่ห่างจากน้ำตกเหวทรายประมาณ 500 เมตร มีความกว้างที่สุดประมาณ
30 เมตร สูง 4 เมตร มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ
โดยเฉพาะในฤดูฝน น้ำตกมีปริมาณน้ำมากตกลงมาเป็นหน้ากว้าง 30 เมตร สวยงามมากเช่นเดียวกัน
ภูผาจิต ( ภูด่านอีป้อง )
ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 69 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12
( ดอยหล่มสัก - ชุมแพ ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร ทางค่อนข้างลำบาก ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ
6 - 7 ชั่วโมง สภาพป่าสวยงามมาก ลักษณะเด่นตั้งโดดเดี่ยวบนที่ราบสูง ลักษณะสันฐานคล้ายภูกระดึงแต่เล็กกว่า
เป็นภูเขาที่มียอดราบแบบโต๊ะ มีไม้สนขึ้นอยู่ประกอบด้วยป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้มีค่าหลายชนิด ภูเขานี้มี ยอดสูงสุด
ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว สูง 1,271 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ผาล้อมผากอง
ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 40 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย - อำเภอหล่มเก่า
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูผากลางดง ( ซำม่วง ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5 - 7 กิโลเมตร
ลักษณะเป็นภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1,134 เมตร เป็นเขาหินปูน
เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบๆ บริเวณได้ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพรรณไม้ที่มีค่ามาก
บริเวณใกล้เคียงยังมีผากลางโหล่น มีความสูงประมาณ 850 เมตร ผาต้นฮอม มีความสูงประมาณ
900 เมตร ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามมากเช่นเดียวกัน
ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ( ภูน้ำริน )
ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย - อำเภอหล่มเก่า
บ้านหินลาด มีทางลูกรัง รถยนต์เข้าถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวถ้ำใหญ่ถ้ำน้ำหนาวประมาณ 3 กิโลเมตร
มีลักษณะเป็นเขาหินปูนสูงประมาณ 955 เมตร ทำให้เกิดเป็นถ้ำน้ำหนาว เป็นถ้ำใหญ่มีความงามวิจิตรพิสดารโดยธรรมชาติ
มี หินงอกหินย้อย และที่แปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลหรือน้ำรินออกจากปากถ้ำ
ภายในถ้ำยังเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมากอีกด้วย ความลึกของตัวถ้ำ เนื่องจากเป็นถ้ำที่มีความลึกมากจึงไม่มีใครทราบแน่ชัด
น้ำตกตาดพรานบา
ทางเข้าอยู่ใกล้ที่ว่าการกิ่งอำเภอน้ำหนาว กิโลเมตรที่ 20 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย -
อำเภอหล่มเก่า เป็นทางลูกรัง รถยนต์เข้าถึงน้ำตก มีลักษณะเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ปานกลาง ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร
น้ำตกจากหน้าผาสูงพุ่งเป็นลำสู่เบื้องล่างเป็นสองชั้น มีน้ำซึ่งเกิดจากลำน้ำเชิญตลอด สาเหตุที่น้ำตกมีชื่อว่า " ตาดพรานบา "
เนื่องจากพรานบาเป็นผู้เข้าไปพบน้ำตกแห่งนี้เป็นคนแรก สำหรับคำว่า ตาด นั้นเป็นภาษาพื้นบ้านท้องถิ่นหมายถึง น้ำตก
จุดชมวิวภูค้อ
ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 46 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12
( ดอยหล่มสัก - ชุมแพ ) เป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวสามารถชม พระอาทิตย์ขึ้น ในยามเช้า
นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ยังได้จัดทำเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
ไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ป่าเปลี่ยนสี
บริเวณกิโลเมตรที่ 63 -70 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12
( ดอยหล่มสัก - ชุมแพ ) ในประมาณเดือน ธันวาคม - มกราคม ของทุกปี
ผืนป่าบริเวณนี้ซึ่งเป็นป่าผสมผลัดใบ ก่อนที่พันธุ์ไม้จะผลัดใบจะมีปรากฎการณ์ธรรมชาติของป่าเปลี่ยนสีที่สวยงามน่าชมยิ่ง
เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
...... อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้จัดทำทางเดินเท้าสำหรับเที่ยวชมธรรมชาติในป่าไว้หลายสาย
เพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้ชอบเดินป่าสามารถชมธรรมชาติได้ทั่วถึง ดังนี้
- เส้นทางเดินสายแรก
เป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางแยกใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ระหว่างทางจะได้เห็นสัตว์ป่าบางชนิด ได้แก่ หมาไม้ และ นกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในฤดูฝนจะพบรอยช้างจำนวนมาก
เส้นทางนี้วนกลับออกมาสู่บริเวณทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
- เส้นทางเดินชมป่าสายที่ 2
เริ่มจากทางเดินตรงข้ามที่ทำการอุทยานฯ ลัดเลาะผ่านป่าเต็งรัง ผ่านบ่อดินโป่ง ซึ่งมีช้าง กวาง และสัตว์อื่นๆ ไปกินอยู่เสมอ ทางสายนี้จะไปสิ้นสุดที่หน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอน
รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร และถ้าเดินกลับที่พักต้องเดินต่ออีกประมาณ 5
กิโลเมตร หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินชมธรรมชาติต่อสามารถใช้เส้นทางเดินเท้าอันราบเรียบที่ทางอุทยานจัดไว้ โดยเริ่มต้นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอน
เส้นทางนี้ผ่านใจกลางอุทยานแห่งชาติ สุดทางจะเป็นจุดเด่นอยู่ท่ามกลางสวนสน เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนเนินภูกุ่มข้าวจะเห็นยอดสนในบริเวณสวนสนอยู่ในระดับสายตาเป็นแนวติดต่อกันเป็นพืดทั้งสี่ทิศ
มองดูแล้วคล้ายๆ กับท้องทะเลยอดสนก็มิปาน และระหว่างทางเดินก็อาจจะได้พบสัตว์ป่า เช่น ช้าง กวาง เก้ง อีกด้วย ระยะทางจากหน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอนถึงสวนสนประมาณ
12 กิโลเมตร
- เส้นทางชมธรรมชาติสายที่ 3
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปประมาณ 800 เมตร
เป็นทางเข้าชมป่าสน หรือภาษาพื้นเมืองเรียกว่า " ป่าแปก "
ทางสายนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมไม้สนขึ้นเรียงรายอยู่เป็นระยะๆ และอาจจะได้พบช้างป่า กวาง เก้ง รวมทั้งรอยเท้าเสือด้วย
สภาพภูมิประเทศ :-
ป่าน้ำหนาวเป็นเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง ทอดยาวผ่านจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์
โดยเฉพาะภูผาจิต ภูกุ่มข้าว และเทือกเขาโดยรอบประกอบขึ้นเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของลำธารสายยาว เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเขิญ
ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์
สภาพภูมิอากาศ :-
โดยทั่วไปอากาศหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย จึงกล่าวได้ว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี
อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ในฤดูฝน จะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว
อากาศหนาวเย็นมาก จนบางครั้ง น้ำค้างจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม
ซึ่งในบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำถึง 0 องศาเซลเซียส
พรรณไม้ :-
ป่าน้ำหนาวเป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกัน ประกอบด้วยป่าหลายชนิด คือ ป่าเต็งรัง หรือป่าแดง
ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และทุ่งหญ้า
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ได้แก่ ไม้ประดู่ แดง มะค่า ชิงชัน เต็ง รัง ยาง ตะเคียน สนเขา ก่อ สมุนไพร และกล้วยไม้ต่างๆ
สัตว์ป่า :-
เนื่องจากป่าส่วนหนึ่งเป็นป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้าและป่าดิบ มีดินโปร่งและน้ำไหลผ่านตลอดปี จึงทำให้ป่านี้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม
เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง หมีควาย หมีคน เลียงผา หมาป่า กระจง เม่น หมูป่า และกระต่ายป่า สำหรับช้างป่านั้นมีอยู่ทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นกองมูลช้างที่ถ่ายไว้ริมทางหลวงอยู่เสมอ
นอกจากนี้ป่าน้ำหนาวยังมีเสือโคร่ง เสือดาว ค่าง
นก
( Avian Fauna )
มีมากกว่า 200 ชนิด ตามทางเดินในป่าจะพบนกสีสวยๆ อยู่เสมอ เช่น นกแก้ว นกขุนแผน นกหก นกพญาปากกว้าง
นกเดินดง นกแต้วแร้ว นกโพระดก นกหัวขวาน นกเงือก นกกระจ้อย นกกินแมลงชนิดต่างๆ ไก่ฟ้าพระยาลอ และไก่ป่า
ผีเสื้อ
มีความหลากหลายของผีเสื้อมากกว่า 340 ชนิด
ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ :-
- ไม่ทำการยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางป่า นำออกไปซึ่งแร่, ดิน, หิน, พรรณไม้ และสัตว์ป่า ตลอดจนของป่าทุกชนิด
- ไม่ล่าสัตว์และไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
- ไม่ทำเสียงดังจนเป็นที่รบกวนแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์
- ต้องช่วยระมัดระวังมิให้เกิดไฟไหม้ป่า หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟ เมื่อเสร็จแล้วกรุณาช่วยดับให้เรียบร้อย
- หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่
การเดินทาง + แผนที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว..คลิกที่นี่
|