: : : อุ ท ย า น แ ห่ ง ช า ติ น้ำ ต ก ห้ ว ย ย า ง : : :
|
อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก และอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งได้รวมจุดเด่นรอบๆ วนอุทยานน้ำตกห้วยยางผนวกเข้าด้วยกัน ซึ่งได้แก่ น้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง หาดทรายขาวสะอาด สวนป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ตลอดจนสัตว์ป่านานาชนิด
เป็นอุทยานแห่งชาติที่พร้อมด้วยป่าเขา น้ำตก ชายหาด มีเนื้อที่ประมาณ 198.88 ตารางกิโลเมตร
หรือ 124,300 ไร่
|
ตรงนี้รอรูปจากคุณไงครับ
|
ส่งภาพถ่ายให้เรา
|
|
ประวัติความเป็นมา :-
สำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรี
ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0714 (พบ)/825 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 แจ้งว่าได้รับหนังสือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ ปจ 0009/940 ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2530
ส่งรายงานการตรวจดูแลป่าสงวนแห่งชาติ ของสำนักงานป่าไม้อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับสะแก มีน้ำตกที่สวยงาม 2 แห่ง
สมควรจัดตั้งเป็นวนอุทยาน สำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรี จึงได้ให้เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ปจ3 ( ทับสะแก ) ออกไปสำรวจข้อมูลรายละเอียดแล้ว
ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำตกขาอ่อน ( ทับมอญ ) และน้ำตกห้วยหินดาษ เหมาะสมจัดตั้งเป็นวนอุทยานเพื่อรักษาสภาพป่าไม้ และต้นน้ำลำธารอันสวยงามนี้ไว้
ซึ่งผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ ( นายธำรงค์ ประกอบบุญ ) ได้มีบันทึกลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 เสนอกรมป่าไม้ เห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
เพื่อคุ้มครองรักษาต้นน้ำลำธารนี้ไว้ และกองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กษ 0713/1673 ลงวันที่ 9 ิมิถุนายน พ.ศ. 2530 ให้หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกห้วยยาง
นายสินธุ์ มะลิวัลย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 4 ทำการสำรวจเบื้องต้นบริเวณน้ำตกทั้ง 2 แห่ง ผลการสำรวจตามหนังสือวนนอุทยานน้ำตกห้วยยาง ที่ กษ 0713 (หย)/161
ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2530 เห็นควรผนวกป่าและน้ำตกทั้ง 2 แห่ง เข้ากับวนอุทยานน้ำตกห้วยยาง จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยืนนานต่อไป ต่อมากองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กษ 0713/2613 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2531
ให้วนอุทยานน้ำตกห้วยยาง สำรวจพื้นที่หาดวนกร เพื่อผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย ตามคำแนะนำของผู้ช่วยป่าไม้เขตเพชรบุรี ( นายเกษม รัตนไชย )
ผลการสำรวจ ตามหนังสือวนอุทยานที่ กษ 0713 (หย)/148 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 เห็นควรผนวกป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง ( หาดวนกร )
เข้ากับพื้นที่ทั้งหมด จัตตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเช่นกัน
จากการไปตรวจราชการในท้องที่สำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรี
ของนายยุกติ สาริกะภูติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2531 - วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2532
ได้สั่งการให้รวมพื้นที่บริเวณหาดวนกรเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติ และในการประชุมผู้อำนวยการกองในสังกัดกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2532
ได้พิจารณาให้ผนวกพื้นที่ป่าห้วยยางและสวนป่าห้วยยาง ( พื้นที่ติดต่อกับหาดวนกร ) เป็นอุทยานแห่งชาติด้วย
กองอุทยานแห่งชาติ
ได้ดำเนินการผนวกบริเวณพื้นที่ป่าน้ำตกขาอ่อน น้ำตกห้วยหินดาษ และวนอุทยานน้ำตกห้วยยางในป่าทับสะแก ท้องที่ตำบลธงไชย อำเภอบางสะพาน ตำบลอ่างทอง
อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และป่าวังด้วน ป่าห้วยยาง ท้องที่ตำบลห้วยทราย อำเภอเมือง
และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ
198.88 ตารางกิโลเมตร หรือ 124,300 ไร่
( ทั้งนี้รวมที่เป็นพื้นน้ำด้วย 15.36 ตารางกิโลเมตร ) ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง
ได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้ว โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เป็น อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 70 ของประเทศไทย
|
Top |
: : : ส ถ า น ที่ น่ า ส น ใ จ : : :
|
สถานที่น่าสนใจ :-
น้ำตกห้วยยาง
มีทั้งหมด 9 ชั้น น้ำตกชั้นล่างๆ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ธารน้ำไหลมาตามโขดหินสูงตั้งแต่
2-5 เมตร บริเวณน้ำตกชันที่ 5 จะมองเห็นสายน้ำตกจากผาสูงประมาณ 15 เมตร
งดงามมากแต่ต้องปีนและไต่โขดหินขึ้นไป จึงเป็นอันตรายได้ในช่วงฤดูฝนที่น้ำหลาก บริเวณชั้นที่ 4 ยังมีทางแยกขึ้นสู่
จุดชมดวงอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมาก สามารถมองเห็นทัศนียภาพไปได้ไกลถึงชายทะเล
น้ำตกเขาล้าน
จากทางหลวงหมายเลข 4 จะพบทางเข้าน้ำตกอยู่ตรง อ.ทับสะแก จากทางเข้าไปประมาณ 14
กิโลเมตร ถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ จากนั้นเดินเลียบลำธารต่อไป อีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก
ซึ่งระหว่างทางมีธารน้ำตกเล็กๆ ที่สามารถ ลงเล่นน้ำได้ หรือหากเลือกเดินต่อไปจนถึงสันเขาก็จะมองเห็นน้ำตกเขาล้าน
ไหลตกลงมาจากผาสูงกว่า 50 เมตร เหนือหน้าผาที่เห็นคือบริเวณน้ำตกชั้นบนสุด สายน้ำไหลจากลานหินกว้างสูงประมาณ
10 เมตร ก่อนจะไหลลงหน้าผา แอ่งน้ำตกชั้นบนสุดสามารถลงเล่นน้ำได้
ยอดเขาหลวง
ยอดสูงเทียมเมฆที่ระดับ 1,250 เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากจะเป็นจุดสูงสุดของอุทยานน้ำตกห้วยยางแล้ว
ยังเป็นต้นน้ำของน้ำตกห้วยยางด้วย บนยอดเขาปกคลุมด้วยป่าดิบเขา อากาศหนาวเย็น ต้นไม้ส่วนใหญ่มีมอสขึ้นปกคลุมลำต้น พื้นที่บางส่วนเป็นทุ่งหญ้าซึ่งจะมี
ดอกกระเจียวบานในช่วงต้นฤดูฝน จากบริเวณทุ่งกระเจียวจะมองเห็นเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวยาวเป็นแนวพรมแดนประเทศไทย กับพม่า
น้ำตกขาอ่อน ( ทับมอญ )
มีขนาดลำธารตอนล่างกว้างประมาณ 6 เมตร ประกอบด้วยชั้นน้ำตกรวม 9
ชั้น จะเป็นธารน้ำตกสูงประมาณ 2-5 เมตร สลับกับแนวโขดหิน ชั้นที่ 5 เป็นชั้นที่มีผาน้ำตกมีความสูง
15 เมตร สามารถเดินทางจากถนนเพชรเกษมไปตามเส้นทางหนองหอย - บ้านตะแบกโพรง หรือสายหนองหญ้าปล้อง - บ้านหนองบอน
น้ำตกห้วยหินดาษ
มีขนาดลำธารตอนล่างกว้างประมาณ 6 เมตร ประกอบด้วยชั้นน้ำตก 10
ชั้น ในแต่ละชั้นอยู่ใกล้ๆ กัน เพราะเป็นน้ำตกที่อยู่ในซอกเขาที่ค่อนข้างสูงชัน สายน้ำตกจึงแรง ชั้นน้ำตกมีความสูงประมาณ 2-5 เมตร
เดินทางตามถนนเพชรเกษมเส้นทางบ้านอ่างทอง - บ้านหนองมะค่า
น้ำตกบัวสวรรค์
หาดวนกร
เป็นหาดทรายขาว ยาวสลับกับหัวกรังที่ยื่นลงในทะเลเป็นตอนๆ สลับกับชายหาดและมีทิวสนประดิพัทธิ์
สนทะเล ร่มรื่นยาวขนานไปกับทะเลและชายหาด สงบเงียบร่มเย็น
สวนป่าห้วยยาง
ตั้งอยู่บริเวณตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก และบริเวณตำบลห้วยทราย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานป่าไม้เขตเพชรบุรี
|
|
เพิ่มเติมข้อมูลให้เรา
|
|
ภาพถ่าย :-
|
ส่งภาพถ่ายให้เรา
|
|
สภาพภูมิประเทศ :-
ประกอบด้วยเทือกเขาสูงติดต่อกัน มีพื้นที่อยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี ส่วนใหญ่จะเป็นเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ
200-800 ฟุต เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำที่เกิดจากสันเขากั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหภาพพม่า
ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย และหินเป็นหินแกรนิตและหินลูกรัง ส่วนด้านตะวันออกติดชายทะเลอ่าวไทย มีชายหาดทรายสวยงามยาวประมาณ
7 กิโลเมตร พื้นที่ประกอบด้วยสนประดิพัทธ์และสนทะเลขนานไปกับชายหาดเกือบตลอดพื้นที่
|
|
สภาพภูมิอากาศ :-
สภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน
ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - เดือนพฤศจิกายน
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม - เดือนมกราคม
|
|
พรรณไม้ :-
บริเวณน้ำตกมีสภาพป่าเป็นป่าดงดิบ ตอนล่างลงมาเป็นป่าดิบแล้ง
พันธุ์ไม้ที่สำคัญ
ได้แก่ ตะเคียน เสลา ตะแบก ยาง ยูง ยมหอม ยมป่า ขนาน ไม้ไข่เน่า ไม้ไทร
ไม้พื้นล่าง
เป็นไผ่ต่างๆ
บริเวณสวนป่า
จะปลูกไม้สนทะเล สนประดิพัทธ์ สะเดา งิ้ว มะฮอกกานี สัก ยูคาลิปตัส
|
|
สัตว์ป่า :-
สัตว์ป่าประกอบด้วย
สัตว์ป่า
ได้แก่ เลียงผา เสือดำ ค่าง ชะนี กระรอก หมูป่า เม่น เก้ง
นก
ได้แก่ ไก่ป่า นกเงือก นกกาฮัง นกเขาเปล้า นกขุนทอง ไก่ฟ้า นกปรอท
|
|
สถานที่พักแรม :-
อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง มีบ้านพัก ไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว
|
|
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :-
อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77130
โทรศัพท์ 032-646291 (VoIP), 08-4701-2795
หรือที่เว็บไซต์ http://www.dnp.go.th
|
|
ข้อควรปฏิบัติในการเที่ยวอุทยานฯ :-
- ไม่ทำการยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางป่า นำออกไปซึ่งแร่, ดิน, หิน, พรรณไม้ และสัตว์ป่า ตลอดจนของป่าทุกชนิด
- ไม่ล่าสัตว์และไม่นำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
- ไม่ทำเสียงดังจนเป็นที่รบกวนแก่นักท่องเที่ยวและสัตว์
- ต้องช่วยระมัดระวังมิให้เกิดไฟไหม้ป่า หากมีความจำเป็นต้องก่อไฟ เมื่อเสร็จแล้วกรุณาช่วยดับให้เรียบร้อย
- หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่
|
|
การเดินทาง :-
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง สามารถเดินทางได้ดังนี้
ทางรถยนต์
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติห้วยยาง ตั้งอยู่บริเวณตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร
เป็นอุทยานแห่งชาติที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก สามารถไปกลับได้ภายในวันเดียว
|
|
|
แผนที่ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง :-
|
|
|